ประวัติรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นพระองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง (พ.ศ. 2411) รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี 22 วัน เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) ด้วยโรคพระวักกะ สิริรวมพระชนมายุ 58 พรรษา
พระองค์ได้รับสมัญญาว่า "ปิยมหาราช" แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก และว่า "พระพุทธเจ้าหลวง"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงได้การศึกษาภาษาเขมรจากหลวงราชาภิรมย์ ทรงได้การศึกษาการยิงปืนไฟจากพระยาอภัยเพลิงศร วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2404 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ และเมื่อ พ.ศ. 2409 พระองค์ผนวชตามราชประเพณี ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ภายหลังจากการผนวช พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า

การปฏิรูปการปกครอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีต่อประเทศในแถบเอเชีย โดยมักอ้างความชอบธรรมในการเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ว่าเป็นการทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าอันเป็น "ภาระของคนขาว" ทำให้ต้องทรงปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย โดยพระราชกรณียกิจดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2416
ประการแรก ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมาสองสภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (เคาน์ซิลออฟสเตต) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (ปรีวีเคาน์ซิล) ในปี พ.ศ. 2417 และทรงตั้งขุนนางระดับพระยา 12 นายเป็น "เคาน์ซิลลอร์" ให้มีอำนาจขัดขวางหรือคัดค้านพระราชดำริได้ และทรงตั้งพระราชวงศานุวงศ์ 13 พระองค์ และขุนนางอีก 36 นาย ช่วยถวายความคิดเห็นหรือเป็นกรรมการดำเนินการต่าง ๆ แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขุนนางสกุลบุนนาค และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เห็นว่าสภาที่ปรึกษาเป็นความพยายามดึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เรียกว่า วิกฤตการณ์วังหน้า วิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้การปฏิรูปการปกครองชะงักลงกระทั่ง พ.ศ. 2428
พ.ศ. 2427 ทรงปรึกษากับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พร้อมเจ้านายและข้าราชการ 11 นาย ได้กราบทูลเสนอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงเห็นว่ายังไม่พร้อม แต่ก็โปรดให้ทรงศึกษารูปแบบการปกครองแบบประเทศตะวันตก และ พ.ศ. 2431 ทรงเริ่มทดลองแบ่งงานการปกครองออกเป็น 12 กรม (เทียบเท่ากระทรวง)
พ.ศ. 2431 ทรงตั้ง "เสนาบดีสภา" หรือ "ลูกขุน ณ ศาลา" ขึ้นเป็นฝ่ายบริหาร ต่อมา ใน พ.ศ. 2435 ได้ตั้งองคมนตรีสภา เดิมเรียกสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพื่อวินิจฉัยและทำงานให้สำเร็จ และรัฐมนตรีสภา หรือ "ลูกขุน ณ ศาลาหลวง" ขึ้นเพื้อปรึกษาราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกฎหมาย นอกจากนี้ยังทรงจัดให้มี "การชุมนุมเสนาบดี" อันเป็นการประชุมปรึกษาราชการที่มุขกระสัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ด้วยความพอพระทัยในผลการดำเนินงานของกรมทั้งสิบสองที่ได้ทรงตั้งไว้เมื่อ พ.ศ. 2431 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 อันประกอบด้วย
-
กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานที่เดิมเป็นของสมุหนายก ดูแลกิจการพลเรือนทั้งหมดและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและชายทะเลตะวันออก
-
กระทรวงนครบาล รับผิดชอบกิจการในพระนคร
-
กระทรวงโยธาธิการ รับผิดชอบการก่อสร้าง
-
กระทรวงธรรมการ ดูแลการศาสนาและการศึกษา
-
กระทรวงเกษตรพานิชการ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์
-
กระทรวงยุติธรรม ดูแลเรื่องตุลาการ
-
กระทรวงมรุธาธร ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
-
กระทรวงยุทธนาธิการ รับผิดชอบปฏิบัติการการทหารสมัยใหม่ตามแบบยุโรป
-
กระทรวงพระคลังสมบัติ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงการคลัง
-
กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) รับผิดชอบการต่างประเทศ
-
กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบกิจการทหาร และบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้
-
กระทรวงวัง รับผิดชอบกิจการพระมหากษัตริย์
หลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบกิจการพลเรือนเพียงอย่างเดียว และให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบกิจการทหารเพียงอย่างเดียว ยุบกรม 2 กรม ได้แก่ กรมยุทธนาธิการ โดยรวมเข้ากับกระทรวงกลาโหม และกรมมรุธาธร โดยรวมเข้ากับกระทรวงวัง และเปลี่ยนชื่อกระทรวงเกษตรพานิชการ เป็น กระทรวงเกษตราธิการ ด้านการปกครองส่วนภูมิภาค มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้ไทยกลายมาเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ โดยการลดอำนาจเจ้าเมือง และนำข้าราชการส่วนกลางไปประจำแทน ทรงทำให้นครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2317-2442) รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ตลอดจนทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ไปประจำที่อุดรธานี เป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบเทศาภิบาล
พ.ศ. 2437 ทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบกินเมือง และระบบหัวเมืองแบบเก่า (ได้แก่ หัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราช) จัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน ระบบเทศาภิบาลดังกล่าวทำให้สยามกลายเป็นรัฐชาติที่มั่นคง มีเขตแดนที่ชัดเจนแน่นอน นับเป็นการรักษาเอกราชของประเทศ และทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
พระองค์ยังได้ส่งเจ้านายหลายพระองค์ไปศึกษาในทวีปยุโรป เพื่อมาดำรงตำแหน่งสำคัญในการปกครองที่ได้รับการปฏิรูปใหม่นี้ และทรงจ้างชาวต่างประเทศมารับราชการในตำแหน่งที่คนไทยยังไม่เชี่ยวชาญ ทรงตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศที่ท่าฉลอม พ.ศ. 2448

|